การป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

สาเหตุการหกล้มในผู้สูงอายุ ทำไมผู้สูงอายุจึงไม่ควรหกล้ม อันที่จริงไม่ว่าใคร วัยไหน จะวัยเด็ก วัยรุ่น วัยกลางคนหรือวัยสูงอายุก็ล้วนแต่ไม่ควรหกล้มด้วยกันทั้งสิ้น แต่สิ่งที่จะบอกคือผู้สูงอายุเป็นวัยที่หากเกิดหกล้มแล้วจะมีความเสี่ยงที่จะพิการหรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย การหกล้มในผู้สูงอายุมีสาเหตุมาจากปัจจัยทั้งภายในตัวของผู้สูงอายุเองและปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัย ความเสี่ยงของการหกล้มสำหรับผู้สูงอายุนั้นจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้นและโดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวและมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงก็จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการหกล้มมากขึ้นซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้สูงอายุที่อาจพิการหรือเสียชีวิตได้เลย

ปัจจัยภายในที่ทำให้เกิดการหกล้มในผู้สูงอายุ ที่สำคัญคือสภาพร่างกายที่ความแข็งแรงของกระดูกจะลดน้อยลงไป การทรงตัวไม่ดี ผู้สูงอายุส่วนมากจะกระดูกพรุนและมีโรคประจำตัวผู้สูงอายุหกล้มในบ้าน ประสาทการรับรู้ด้านเสียงก็ไม่ดี(หูตึง) สายตาก็พร่ามัวมองอะไรไม่ชัด บางคนอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงซึ่งทำให้หกล้มได้ง่าย การกินยารักษาโรคประจำตัวบางชนิดก็อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการหกล้มในผู้สูงอายุได้เช่นกัน

ปัจจัยภายนอกที่ทำให้เกิดการหกล้มในผู้สูงอายุ ได้แก่สภาพแวดล้อมที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ ถ้าผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในบ้านที่จัดวางข้าวของไม่เป็นระเบียบเกะกะประกอบกับสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงทุกวัน สายตาไม่ดีก็อาจจะเดินไปชนข้าวของและเกิดการหกล้มได้ ห้องต่างๆ ภายในบ้านควรปรับเปลี่ยนให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็น ห้องครัว ห้องน้ำ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ฯลฯ นั่นคือสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมถอยของสภาพร่างกายให้อาศัยอยู่ได้โดยไม่เกิดอุบัติเหตุกับผู้สูงอายุ

บริเวณที่ผู้สุงอายุมักจะหกล้ม ห้องต่างๆ ในบ้านที่ผู้สูงอายุอาจหกล้มได้ได้แก่ ห้องน้ำ ห้องนอน บริเวณทางเข้าบ้าน(บันได) ในขณะที่เราคิดว่าห้องนอนเป็นที่อาศัยประจำผู้สูงอายุไม่น่าจะเกิดการหกล้มได้แต่ความจริงแล้วหากห้องนอนมีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้สูงอายุได้ อาจเกิดจากระดับเตียงที่สูงเกินไปโดยผู้สูงอายุนั่งขอบเตียงแล้วขาหยั่งไม่ถึงพื้นห้องหรือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวแล้วไม่ระวังชอบเปลี่ยนท่าลุกขึ้นยืนโดยฉับพลันทำให้เกิดอาการหน้ามืดเกิดภาวะความดันตกและวูบได้ ส่วนบริเวณบ้านที่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะหกล้มได้มากคือทางเข้าบ้านที่มีลักษณะเป็นบันไดมีรอยต่อที่ไม่ได้เป็นพื้นราบอาจทำให้ผู้สูงอายุเดินสะดุดได้ ห้องน้ำที่เป็นพื้นที่เปียกมีคราบสบู่หากผู้สูงอายุไม่ระวังก็อาจจะลื่นล้มได้เช่นกัน บางครั้งทั้งที่ระวังแล้วแต่ด้วยสภาพร่างกายที่สายตาก็ไม่ดี เรี่ยวแรงก็ไม่มีทำให้ไม่สามารถประคองตัวได้บนพื้นห้องน้ำที่เปียกและลื่น

ผลกระทบของการหกล้มของผู้สูงอายุ ลักษณะการล้มของผู้สุงอายุหากล้มไปด้านหน้าโดยธรรมชาติคนเราจะต้องใช้มือค้ำยันไว้แต่เนื่องจากความแข็งแรงของกระดูกที่ลดน้อยลงอาจทำให้ป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุเกิดการบาดเจ็บบริเวณกระดูกข้อมือได้ หากผู้สูงอายุล้มไปด้านหน้าแล้วใช้เข่ารับน้ำหนัก ๆ ก็จะถูกถ่ายเทไปยังกระดูกต้นขาและไปสู่อวัยวะที่อ่อนแอที่สุดนั่นคือรอยต่อบริเวณสะโพกทำให้เกิดการบาดเจ็บตรงจุดนี้ได้มากที่สุด ในทางกลับกันหากผู้สูงอายุหกล้มในลักษณะหงายหลังแบบก้นจ้ำเบ้าอวัยวะที่จะได้รับความเสียหายมากที่สุดคือกระดูกสันหลังและกระดูกบริเวณเอวซึ่งหลังจากการหกล้มจะทำให้เกิดการปวดหลังหรือปวดเอวเป็นต้น

การป้องกันการหกล้มในผู้สุงอายุ ทำได้โดยกำจัดปัจจัยเสี่ยงต่างๆทั้งภายนอกและภายใน ปัจจัยที่เกี่ยวกับตัวผู้สูงอายุเองนั้น ผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลสุขภาพตามสมควร มีการออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อให้พอมีแรงสำหรับเคลื่อนไหวและทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเองโดยการออกกำลังกายนั้นหวังผลแค่ชะลอการเสื่อมของกระดูกและการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อให้ได้นานที่สุด หากร่างกายถดถอยลงมากอาจเลือกทำกายภาพบำบัดซึ่งคนส่วนมากจะเข้าใจว่าการทำกายภาพบำบัดทำเพื่อรักษาอาการให้ดีขึ้น(ทำหลังการหกล้ม) แต่ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถทำกายภาพบำบัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหกล้มในผู้สูงอายุได้(ทำก่อนการหกล้ม)

ส่วนปัจจัยภายนอกที่ควรปรับเปลี่ยนคือสภาพแวดล้อมภายในบ้านของผู้สูงอายุ หากผู้สูงอายุตั้งใจจะอยู่ในบ้านหลังที่เคยอยู่มานานจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ผู้สูงอายุควรปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของบ้านให้เหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุทั้งนี้อาจต้องลงทุนมากน้อยก็แล้วแต่ว่าการปรับเปลี่ยนนั้นจะกระทบกับโครงสร้างของบ้านหรือเป็นการปรับเปลี่ยนเล็กเพียงเล็กน้อยก็ได้ บางคนคิดว่าไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมากเพราะอยู่อาศัยมาตั้งนานมีความคุ้นเคยแล้ว แต่ในความเป็นจริงคือแม้จะอยู่มานานแต่ด้วยสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปในทางถดถอย ตาพร่ามัว หูได้ยินไม่ชัด ไม่มีเรี่ยวแรงเดินขึ้นบันได การทรงตัวไม่ดี ฯลฯ จึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนบ้านให้เหมาะกับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ บางครั้งอาจต้องย้ายห้องนอนของผู้สูงอายุจากที่เคยนอนอยู่ชั้นบนของบ้านให้ลงมาอยู่ชั้นล่างเพื่อลดความเสี่ยงที่ต้องขึ้นลงบันไดที่อาจทำให้เกิดการพลัดตกหกล้มได้

บ้านที่เหมาะกับผู้สูงอายุต้องมีสภาพแวดล้อมทั้งในเรื่องแสงสว่างที่เพียงพอทั้งกลางวันและกลางคืน อากาศถ่ายเทได้ดีเพราะต้องอยู่ทั้งวัน(ไม่ค่อยได้ออกไปข้างนอก) ข้าวของจัดวางเป็นระเบียบไม่ขวางทางเดิน บันไดมีการติดตั้งราวจับทั้งสองด้าน(ซ้ายขวา) มีการติดเทปกันลื่นที่จมูกบันได พื้นที่ทางเข้าออกบ้านควรปรับเป็นพื้นราบ ส่วนห้องน้ำที่เป็นพื้นที่ที่อาจเกิดการลื่นหกล้มได้ต้องติดตั้งราวจับในห้องน้ำเพื่อให้ผู้สูงอายุลุกนั่งได้อย่างปลอดภัย ติดตั้งแถบกันลื่นหรือแผ่นยางกันลื่นที่พื้นหรือในอ่างอาบน้ำ อาจมีการติดตั้งปุ่มกดแจ้งเตือนสัญญาณเสียงให้คนข้างนอกห้องน้ำรู้เมื่อเกิดอุบัติเหตุในห้องน้ำ นอกจากนี้ควรปรับเปลี่ยนหลอดไฟเพื่อเพิ่มแสงสว่างในบางจุด เช่น บริเวณบันไดติดตั้งหลอดไฟแบบทำงานเมื่อมีการตรวจจับความเคลื่อนไหว(Motion Sensor) อาจติดตั้งระหว่างทางเดินจากห้องนอนไปห้องน้ำเพื่อเพิ่มความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนบ่อยๆ ในห้องครัวก็ควรจัดวางข้าวของที่ผู้สูงอายุต้องใช้ให้อยู่ในระดับพอดี(ระดับเอว) เวลาหยิบใช้จะได้ไม่ต้องเขย่งหรือก้มเพื่อให้ผู้สูงอายุหยิบใช้ได้ง่าย

ผลกระทบจากการหกล้มของผู้สูงอายุ หากผู้สูงอายุในบ้านเกิดอุบัติเหตุหกล้มมักจะบาดเจ็บจะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ การฟื้นฟูสภาพร่างกายจะใช้เวลานาน(ธรรมชาติของคนแก่) บางครั้งการรักษาก็แค่ดึงกระดูกที่ผิดตำแหน่งให้เข้าที่หรือบางทีก็ต้องผ่าตัดเพื่อยึดกระดูก เมื่อผู้สูงอายุได้รับบาดเจ็บจากการหกล้มโอกาสที่จะรักษาฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาเหมือนเดิมนั้นเป็นไปได้น้อย ส่วนมากแม้จะฟื้นฟูร่างกายกลับมาได้แต่ก็ไม่เหมือนเดิม 100 % อาจต้องพิการเป็นผู้ป่วยติดเตียงต้องมีคนดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *