ทำไมการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญ การเตรียมเข้าสู่วัยสูงอายุนั้นมีจุดประสงค์เพื่อการเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุขในทุกๆด้าน สุขภาพดีทั้งสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง จิตใจเบิกบานแจ่มใสไม่ซึมเศร้า มีเงินใช้จ่ายในการดูแลตัวเอง มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและมีสังคมที่อบอุ่น การเข้าสู่วัยสูงอายุต้องมีการวางแผนทั้งในเรื่องสุขภาพร่างกายและจิตใจ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านการเงินและงานอดิเรกหรือการมีส่วนร่วมในสังคม หากมีการเตรียมพร้อมในการปรับตัวเข้าสู่วัยสูงอายุจะทำให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ
การยอมรับความจริงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุ นั่นคือสภาพร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปในทางถดถอยลดน้อยลงทั้งในเรื่องสุขภาพ หน้าที่การงาน รายได้ การยกย่องในสังคม ฯลฯ ผู้สูงอายุมักจะมีโรคประจำตัวที่ต้องอาศัยการดูแลสุขภาพมากกว่าปกติ ในเรื่องหน้าที่การงานก็ต้องเกษียณอายุซึ่งส่งผลกระทบกับรายได้ที่เคยได้รับจากการทำงานต้องมารับเงินบำเหน็จบำนาญที่มีจำนวนต่างจากเงินเดือนที่เคยได้รับมาก บทบาทในสังคมและครอบครัวของผู้สูงอายุจะถูกลดบทบาทจาก “ผู้ให้ความช่วยเหลือ” กลายเป็น “ผู้รับความช่วยเหลือ” ผู้สูงอายุที่ยอมรับความจริงไม่ได้จะเกิดอาการขี้หงุดหงิด น้อยใจ หดหู่และเกิดภาวะซึมเศร้าเริ่มแยกตัวออกจากสังคม
การปรับตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ ผู้สูงอายุต้องพยายามดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายและตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ร่างกายของผู้สูงอายุย่อมแตกต่างจากเมื่อครั้งยังอยู่ในวัยทำงาน กิจกรรมหลายๆ อย่างที่เคยทำได้ในวัยทำงานแต่เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุอาจทำกิจกรรมเหล่านั้นไม่ได้แล้วหรือหากจะทำก็ต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าเดิมเพราะสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อมลงนั่นเอง
การเตรียมความพร้อมด้านร่างกายเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะเรื่องการรับประทานอาหารควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด ไม่ว่าจะเป็นหวานจัด เค็มจัด เผ็ดจัด. การพักผ่อนให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ผู้สูงอายุควรเข้านอนไม่เกิน 4 ทุ่มเพื่อให้ร่างกายได้ใช้เวลาขณะนอนหลับในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายเมื่อตื่นขึ้นมาจะได้รู้สึกสดชื่นกระฉับกระเฉงสามารถทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุไม่ได้เน้นเรื่องความหนักหน่วงหรือการออกกำลังกายแบบหักโหม ผู้สูงอายุควรออกำลังกายแบบแอโรบิคคือการออกกำลังกายโดยเน้นที่ความสม่ำเสมอ เบา ๆ แต่ออกกำลังกายได้เรื่อยๆ เช่น การเดิน การรำมวยจีน การแกว่งแขน ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ได้เน้นเรื่องการสร้างกล้ามเนื้อแบบการออกกำลังกายของวัยหนุ่ม–สาว การออกกำลังกายของผู้สูงอายุควรคำนึงถึงสภาพร่างกายด้วยว่ามีโรคประจำตัว ความแข็งแรงของกระดูกและข้อและควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำการออกกำลังกาย. ผู้สูงอายุควรมีการตรวจสุขภาพประจำปี ผู้สูงอายุทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีแม้ว่าจะไม่มีโรคประจำตัวก็ตามทั้งนี้เพื่อการติดตามและป้องกันว่าร่างกายของผู้สูงอายุซึ่งอาจจะมีโรคประจำตัวอยู่แล้วหรือไม่ก็ตามเพื่อจะได้รู้สภาพร่างกายของตนเองและโรคต่าง ๆ หากจะเกิดขึ้นมามักจะมีสัญญาณเตือนจากอาการต่างๆ ซึ่งสามารถตรวจพบได้จากการตรวจสุขภาพประจำปี ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย.
การปรับตัวของผู้สูงอายุทางด้านจิตใจ นอกจากสุขภาพกายที่ต้องดูแลแล้วสุขภาพจิตก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เนื่องจากการถูกลดบทบาทในสังคมอาจทำให้ผู้สูงอายุขาดความมั่นใจ น้อยใจ ท้อแท้ จนอาจเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ สิ่งที่ควรทำคือผู้สูงอายุควรปรับตัวโดยการสนใจบุคคลและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น พยายามช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุดและคอยถามไถ่ให้คำปรึกษาให้กำลังใจเมื่อคนที่อยู่รอบข้างมีปัญหา ผู้สูงอายุอาจช่วยเหลือเรื่องงานบ้านตามกำลังและความสามารถเท่าที่จะทำได้ การได้ช่วยเหลือคนในครอบครัวและผู้อื่นจะทำให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่าสามารถทำตัวให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นได้จะช่วยให้สภาพจิตใจของผู้สูงอายุดีขึ้นได้
การปรับความคิด เนื่องจากวัยผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดโดยเฉพาะทางด้านร่างกายที่เริ่มจะถดถอยและทรุดโทรมลงเรื่อยๆ ทำให้สภาพจิตใจก็เริ่มที่จะย้ำแย่ตามไปด้วย อีกทั้งเมื่อต้องเข้าสู่วัยเกษียณซึ่งต้องออกจากงานมาอยู่บ้านเฉย ๆ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าตนเองด้อยค่าและอาจจะไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากผู้คนรอบข้าง จากที่เคยมีงานทำมีรายได้ต้องออกมาอยู่บ้านทำให้รู้สึกไม่เคยชินและเหงา ผู้สูงอายุควรปรับความคิดโดยการยอมรับความจริงที่ว่า “ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า” ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนมีการตั้งอยู่และดับไปซึ่งเป็นวัฏจักรของชีวิตที่มีตั้งแต่การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เมื่อถึงเวลาก็ต้องปล่อยวาง ถ้าปรับความคิดได้และยอมรับความเป็นจริงก็จะไม่หงุดหงิดและรู้สึกว่าตนเองด้อยค่า.
ผู้สูงอายุที่ยอมรับบทบาทและสถานภาพที่เปลี่ยนไปได้จะมีการยอมรับและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นทำให้การปรับตัวเข้ากับคนในครอบครัวได้ง่ายขึ้น การยอมรับบทบาทและรับฟังความคิดเห็นของคนในครอบครัว การให้กำลังใจซึ่งกันและกันจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุและคนในครอบครัวเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ผู้สูงอายุที่มีการเตรียมพร้อมและปรับตัวเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้นสามารถอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวและสังคมได้อย่างมีความสุขและเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ
การปรับตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ วิธีปรับตัวเป็นกระบวนการที่สำคัญและซับซ้อน เนื่องจากต้องมีการปรับตัวทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ดังนั้นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุจึงต้องมีการปรับตัวในด้านต่างๆ ดังนี้คือ การปรับตัวทางด้านร่างกายเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเพราะผู้สูงอายุมักจะมีโรคประจำตัวหากดูแลตัวเองไม่ดีก็จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพซึ่งจะกระทบไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่พอดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผู้สูงอายุต้องมีการตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อติดตามและเฝ้าระวังอาการของโรคประจำตัวที่อาจลุกลามขึ้นมาได้หากไม่มีการติดตามอาการที่ดีพอ การปรับตัวทางจิตใจของผู้สูงอายุ แน่นอนว่าผู้สูงอายุต้องมีความเครียดด้วยกันทุกคน ดังนั้นผู้สูงอายุต้องมีการปรับตัวเพื่อจัดการกับความเครียด ผู้สูงอายุควรหาเวลาพักผ่อนหย่อนใจทำกิจกรรมที่ชอบ หากสนใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็ทำได้เลย การได้ใช้ความคิดจะเป็นช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม การปรับตัวทางสังคมเพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วม ช่วยเหลือผู้อื่นทำให้ชีวิตมีคุณค่าและได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง การปรับตัวทางเศรษฐกิจจะต้องมีการวางแผนเรื่องเงินทอง จัดการทรัพย์สินล่วงหน้าให้เรียบร้อยเพื่อให้มีกินมีใช้และไม่มีปัญหาเรื่องเงินทองที่เป็นของบาดใจคนทั่วไป การปรับตัวเข้าสู่วัยสูงอายุเป็นกระบวนการที่ต้องการการเตรียมตัวและความพยายามอย่างต่อเนื่อง แต่การมีความรู้และการปฏิบัติที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่มีคุณภาพและมีความสุขมากขึ้น
มีวิธีการอย่างไรที่จะให้ผู้สูงอายุดูแลสุขภาพตนเอง การโน้มน้าวให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองเป็นเรื่องที่ต้องใช้การสื่อสารที่ดี มีความเข้าใจเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนเพื่อให้ผู้สูงอายุเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการดูแลสุขภาพของตนเอง ต้องมีการสื่อสารด้วยความเข้าใจในความคิดของผู้สูงอายุและให้ความเคารพกับความคิดของผู้สูงอายุ การฟังอย่างตั้งใจจะทำให้เราเข้าใจถึงความต้องการของผู้สูงอายุ ควรสื่อสารด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและใช้เหตุผลอธิบายว่าการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุมีความสำคัญอย่างไร ควรสื่อสารข้อมูลที่มีประโยชน์ อธิบายถึงประโยชน์ของการกินอาหาร การออกกำลังกายและการตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากมีตัวอย่างที่ดีจากผู้สูงอายุที่รู้จักก็อาจยกตัวอย่างให้ผู้สูงอายุรับทราบและเข้าใจเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ผู้ดูแลผู้สูงอายุต้องสร้างแรงจูงใจอาจมีการตั้งเป้าหมาย(ที่ไม่ยากจนเกินไป) ให้ผู้สูงอายุปฏิบัติเช่น สิ่งที่ต้องทำให้ได้เป็นประจำคือ กินผักทุกมื้อ ออกไปเดินเล่นให้ได้ทุกวัน(ออกกำลังกาย) เมื่อผู้สูงอายุทำได้ก็พูดชมเชยและให้กำลังใจผู้สูงอายุที่ทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตัวอย่างที่ดีจะเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดการทำตามได้ดีที่สุด ผู้ดูแลผู้สูงอายุอาจทำให้ผู้สูงอายุเห็นเป็นตัวอย่างว่าเมื่อดูแลสุขภาพดีแล้วผลลัพธ์ที่ดีจะเป็นอย่างไรจะทำให้ผู้สูงอายุอยากทำตามเพราะเห็นผลลัพธ์จากตัวอย่างนั่นเอง การโน้มน้าวผู้สูงอายุให้ดูแลสุขภาพของตนเองต้องใช้เวลา ความอดทน และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ความเข้าใจและการสื่อสารที่ดีจะช่วยให้พวกเขาเห็นคุณค่าและความสำคัญของการดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น