สุขภาพของผู้สูงอายุย่อมถดถอยลงไปตามกาลเวลา ปัญหาสุขภาพที่มักพบในวัยสูงอายุได้แก่ ปัญหาเรื่องสายตา กระดูกและข้อเสื่อม สมองเสื่อมหรือปัญหาด้านความจำที่ลดน้อยถอยลง เป็นต้น นอกจากนี้ผู้สูงอายุมักจะมีโรคประจำตัวเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ยังไม่นับรวมถึงอาการทั่วไปที่เกิดกับวัยผู้สูงอายุได้แก่ อาการอ่อนเพลียทำกิจกรรมอะไรสักพักก็เหนื่อยแล้ว
สมุนไพรบำรุงร่างกายสำหรับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุจะมีทางเลือกในการบำรุงร่างกายด้วยอาหารเสริมและวิตามินต่างๆ แต่ทางเลือกหนึ่งที่นิยมใช้กันก็คือการใช้สมุนไพรบำรุงร่างกายซึ่งสมุนไพรมีหลายชนิดแต่ละชนิดก็มีสรรพคุณแตกต่างกันไป ดังนั้นผู้สูงอายุสามารถเลือกใช้สมุนไพรที่มีสรรพคุณในการบำรุงร่างกายที่เหมาะสมกับตัวเองได้
สมุนไพรช่วยลดความดันโลหิตสูง เช่น กระเทียม โดยนำกระเทียมสดมาสับหรือบดละเอียดแล้วตวงให้ได้ประมาณ 1 ช้อนชา แล้วนำมากินพร้อมอาหารทุกมื้อวันละ 3 ครั้ง(เช้า-กลางวัน-เย็น) สิ่งที่ต้องระวังคืออย่ากินกระเทียมตอนท้องว่างเพราะอาจทำให้กระเพาะอาหารระคายเคืองได้ ใบบัวบกก็เป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตสูง บำรุงกำลังแก้อ่อนเพลียได้ โดยการนำใบบัวบกสดประมาณ 30 กรัม ผสมน้ำ 250 มิลลิลิตรแล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำมาดื่ม
สมุนไพรลดน้ำตาลในเลือด เช่น มะระขี้นก โดยเอาผลสด 8-10 ผลมาผ่าและเอาเมล็ดออกแล้วนำมาบดโดยเติมน้ำเล็กน้อยแล้วกรองส่วนที่เป็นน้ำมาดื่มก็ได้ มะระขี้นกจะมีรสขมมากดังนั้นอาจนำมะระขี้นกมาลวกกินกับน้ำพริกจะทำให้กินได้ง่ายกว่า ตำลึงก็เป็นพืชสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้เช่นกันโดยนำผักตำลึงสด 1 กำมือ มาลวกพอสุกแล้วกินกับน้ำพริกเหมือนมะระขี้นกก็ได้
สมุนไพรลดไขมันในเลือดได้แก่ กระเจี๊ยบแดงโดยนำกลีบรองดอกไปตากให้แห้งแล้วบดให้ละเอียด ใช้ผงที่บดแล้วครั้งละ 1 ช้อนชาชงในน้ำร้อน 250 มิลลิลิตรดื่มวันละ 3 ครั้ง นอกจากนี้กระเจี๊ยบแดงยังมีสรรพคุณแก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ บำรุงโลหิตอีกด้วย
สมุนไพรสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานระยะเริ่มแรก ให้นำใบกระเพรามาตากแห้งแล้วบดเป็นผงเก็บไว้ วิธีใช้ตักผงกระเพรา 1 ช้อนชา ชงในน้ำร้อน 250 มิลลิลิตรดื่ม จะช่วยให้เซลล์ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ดีขึ้น นอกจากนี้ใบเตยหอมก็ใช้เป็นสมุนไพรแก้เบาหวานได้ในลักษณะเดียวกับใบกระเพราโดยนำใบเตยหอมแก่จัดมาล้างให้สะอาด ตากแดดให้แห้งเก็บไว้ใช้ชงดื่มเป็นชาใบเตยได้เช่นเดียวกัน
สมุนไพรที่ช่วยในเรื่องความจำของผู้สูงอายุ ขมิ้นชัน นำเหง้าแก่สด(ยาวประมาณ 2 – 3 นิ้ว) มาปอกเปลือก ล้างให้สะอาดแล้วตำให้ละเอียดจากนั้นเติมน้ำลงไปเล็กน้อยคั้นเอาแต่ส่วนที่เป็นน้ำมาดื่มครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง
ปัจจุบันได้รับความสะดวกมากขึ้นเพราะมีการนำสมุนไพรชนิดต่างๆ มาบรรจุแคปซูลจำหน่าย เราเพียงแต่เลือกชนิดของสมุนไพรที่ตรงกับความต้องการและใช้ตามคำแนะนำที่ฉลากระบุไว้ ถึงแม้สมุนไพรจะมีสรรพคุณต่างๆก็จริงแต่ทั้งนี้การใช้สมุนไพรกับผู้สูงอายุควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะเป็นการดีที่สุด
วิธีการใช้ยาสมุนไพรให้ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ หลักการใช้ยาสมุนไพรกับผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุมีสภาพร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนคนวัยหนุ่มสาว
มักมีโรคประจำตัวหลาย ๆ โรคทำให้ต้องกินยาแผนปัจจุบันหลาย ๆ อย่าง อีกทั้งการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกายจะเสื่อมลงตามอายุโดยเฉพาะการกำจัดยาของไตจะทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนเมื่อก่อน ทำให้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจากการใช้ยา ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบันหรือสมุนไพรก็ตาม ดังนั้นผู้ที่ดูแลผู้สุงอายุต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ยาในผู้สูงอายุทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรเป็นอย่างมาก หลักการใช้ยาสมุนไพรหรือวิธีเลือกผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยยึดหลักคือ เลือกใช้ให้ถูกต้น(ชนิดสมุนไพร) ถูกส่วน(ใบ ดอก ราก เปลือก) ถูกขนาด(มีผลต่อการทำงานของตับ) ถูกวิธี(กินสด ต้ม ดองเหล้า เคี่ยว) และถูกโรค โดยก่อนใช้สมุนไพรควรดูรายละเอียดว่าสมุนไพรที่เป็นผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนประกอบจากสมุนไพรชนิดใดและหมั่นสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในการใช้สมุนไพรด้วย.