ทำไมคนแก่ขี้น้อยใจ

อาการขี้น้อยใจของผู้สูงอายุ หากลูก ๆ หลาน ๆ บ้านไหนไม่เคยเจอกับปัญหานี้นับว่าโชคดีมากๆ ผู้สูงอายุมักมีอารมณ์แปรปรวนซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุทำให้ลูกหลานมักบ่นว่า อยู่กับคนแก่แล้วเครียดอันที่จริง อาการขี้น้อยใจไม่ได้เกิดเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้นแต่โดยปกติแล้วไม่ว่าใครๆ หากมีคนมาขัดใจไม่ทำตามสิ่งที่ต้องการก็ล้วนแต่จะรู้สึกไม่พอใจด้วยกันทั้งน้้นแต่เนื่องจากในวัยสูงอายุเมื่อถูกขัดใจและด้วยข้อจำกัดทางด้านการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและหน้าที่การงานทำให้ไม่สามารถจัดการอะไรได้จึงทำให้ผู้สูงอายุมักแสดงออกด้วยการไม่พอใจ เหวี่ยงวีนหรือน้อยใจ

คนที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปพูดได้ว่าเข้าสู่วัยสูงอายุแล้วเข้าสู่ชราแลนด์แล้ว มีการแบ่งประเภทของผู้สูงอายุโดยใช้เกณฑ์อายุเป็นตัวกำหนดได้เป็น ผู้สูงอายุตอนต้น(60 – 69 ปี) ผู้สูงอายุตอนกลาง(70 -80 ปี) และผู้สูงอายุตอนปลาย(80 ปี ขึ้นไป) แหม ! แบ่งยังกะนักเรียนชั้นมัธยมเลย แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุประเภทไหนจะมีธรรมชาติของผู้สูงอายุที่เหมือนกันคือ ภาวะเสื่อมทาง

ผู้สูงอายุขี้น้อยใจ
ผู้สูงอายุอารมณ์แปรปรวน

ร่างกาย(ความแข็งแรงลดลง มีโรคประจำตัว) และภาวะเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ(อารมณ์แปรปรวน เหงา เศร้า กลัวถูกทอดทิ้ง) อาการขี้น้อยใจก็เกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุแต่หากเป็นมากขึ้นก็อาจทำให้เกิดเป็นปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุได้

ผู้สูงอายุขี้น้อยใจเกิดจากอะไร โดยปกติผู้สูงอายุเมื่อต้องหยุดทำงานมาอยู่บ้านเฉยๆ ก็จะรู้สึกว่าตนเองถูกด้อยค่าถูกลดความสำคัญ จากที่เคยทำงานมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี มีคนนับหน้าถือตามาเป็นตาแก่ที่นั่งเหงาอยู่กับบ้าน ผู้สูงอายุส่วนมากมักกลัวความเหงาหรือการไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนรอบข้าง คิดว่าลูกหลานไม่สนใจ รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ฯลฯ เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อย่างเข้าสู่วัยสูงอายุนั้นยากที่จะทำใจให้ยอมรับได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกเรื่องคุณค่าของตนเองที่ลดลงทำให้ผู้สูงอายุมักมีอาการน้อยใจเมื่อมีคนขัดใจหรือทำอะไรไม่ถูกใจ

อาการขี้น้อยใจของผู้สูงอายุ อาจแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของคนในครอบครัว ทั้งจากตัวผู้สูงอายุเองและคนรอบข้าง ทั้งสองฝ่ายต้องตระหนักว่า ครอบครัวจะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขได้ต้องมีความเข้าใจเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ลูกหลานต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของผู้สูงอายุเกิดขึ้นตามวัยที่เปลี่ยนไปและตัวผู้สูงอายุเองก็ต้องพยายามทำใจยอมรับให้ได้ว่า นี่คือธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงที่ยังไงก็ต้องเกิดขึ้น หากผู้สูงอายุทำใจยอมรับไม่ได้จะทำให้การแก้ไขปัญหายากขึ้น ลูกๆ หลานๆ จะเจอปัญหา อยู่กับคนแก่แล้วเครียดน่าเบื่อ เพราะเจอแต่คนแก่ที่เอาแต่ใจตนเอง ไม่รับฟังความคิดเห็นจากใครเลย พอมีใครทำอะไรไม่ได้ดั่งใจก็โกรธ งอน น้อยใจ ฯลฯ ทำให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว

ไม่แก่ดัดยากหากฝืนดัดอาจหักได้ ปัญหาคนแก่ขี้น้อยใจต้องใช้วิธีค่อยๆ สร้างความรู้สึกที่ดี ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่า ลูกหลานยังคงเป็นห่วงให้ความเคารพอยู่เสมอคือต้องใช้ไม้อ่อนค่อยๆ แก้ไข โดยใช้คนที่ผู้สูงอายุให้ความไว้วางใจและเชื่อใจในการดูแลและอธิบายเหตุผลและให้ความสนใจต่อผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกเหงา ว้าเหว่หรือถูกทอดทิ้ง ทั้งนี้ต้องอาศัยจิตวิทยาและธรรมะในการดูแลโดยใช้ช่วงเวลาที่ผู้สูงอายุสบายใจในการพูดคุย อธิบายถึงธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงและอย่าฝืนธรรมชาติควรยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การตามใจผู้สูงอายุในทุก ๆ เรื่องที่ถูกขัดใจเพื่อให้ปัญหาเฉพาะหน้าจบนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเดิมๆ ซ้ำและอาจเกิดปัญหาใหม่ๆ ตามมาโดยไม่จบไม่สิ้น

ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าและถูกลดความสำคัญ นี่คือคำตอบประเด็นของคำถาม ทำไมคนแก่ขี้น้อยใจซึ่งอาจก่อตัวเป็นปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุตามมาได้ สาเหตุที่คนแก่ขี้น้อยใจเพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเคารพนับถือจากคนในครอบครัวเหมือนกับที่ผ่านมา ปัญหานี้จึงแก้ได้ด้วยการให้เวลากับผู้สูงอายุมากขึ้นและทำให้ผู้สูงอายุรู้ว่าคนในบ้านยังรักและเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุอยู่เสมอ ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ครอบครัวอยู่กันอย่างเป็นสุขได้.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *