ผู้สูงอายุส่วนมากจะมีโรคประจำตัวหรือเจ็บป่วยอาจจะเป็นโรคใดโรคหนึ่งหรือหลาย ๆ โรคเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ โรคทางระบบประสาท สมองเสี่อม มะเร็ง ฯลฯ เมื่อผู้สูงอายุเป็นโรคเหล่านี้แล้วโอกาสที่อาการของโรคจะดีขึ้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยเพราะโรคเหล่านี้มักจะรักษาไม่หายขาดเพราะเป็นโรคเรื้อรังสิ่งที่ทำได้คือพยายามประคับประคองอาการไม่ให้แย่ลงไปกว่าเดิม พูดง่ายๆ คือมีแต่ทรงกับทรุด ถ้าดูแลรักษาดีๆ อาการจะทรงตัวทำให้สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกแต่ถ้าการดูแลรักษาสุขภาพไม่ดีอาการก็จะทรุดลงจนทำให้เสียชีวิตได้ก่อนเวลาอันควร
การดูแลแบบประคับประคอง(Palliative Care) เป็นวิธีการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคที่รักษาไม่หายด้วยการพยายามบรรเทาอาการเจ็บปวดหรืออาการทรมานจากโรคให้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยน้อยที่สุดเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้การดูแลจะรวมไปถึงการลดความทุกข์ทรมานความเจ็บปวดจากการรักษาที่ยื้อชีวิตโดยไม่เกิดประโยขน์กับผู้ป่วย การดูแลแบบประคับประคองเริ่มจากแพทย์ต้องวินิจฉัยด้วยความละเอียดแล้วว่าอาการของผู้ป่วยไม่สามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นระยะของโรคจะค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ระยะท้ายของโรคซึ่งอาจจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและโรคที่ผู้ป่วยเป็น เวลาที่เหลืออยู่ของผู้ป่วยก็จะเหลือน้อยลงเรื่อยๆ ตัวผู้ป่วยต้องมีความเข้าใจและยอมรับเรื่องการดูแลแบบประคับประคองรวมถึงผู้ดูแลและญาติพี่น้องของผู้ป่วยด้วย ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการวางแผนว่าช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของผู้ป่วยจะใช้ชีวิตแบบไหนโดยผู้ป่วยบางคนอาจเลือกที่จะรับการดูแลแบบประคับประคองอยู่ในโรงพยาบาลแต่บางคนก็อาจจะเลือกกลับมาอยู่ที่บ้านโดยยังคงได้รับคำแนะนำในเรื่องการดูแลรักษาจากทางโรงพยาบาลอยู่อย่างต่อเนื่อง
ข้อดีของการดูแลแบบประคับประคอง ในมุมมองของผู้ป่วยน่าจะเกิดผลดีคือในเมื่อเป็นโรคที่รักษาไม่หายแล้วก่อนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตหากได้ทำหรือใช้ชีวิตในแบบที่ตัวผู้ป่วยต้องการจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความสบายใจ อะไรที่อยากทำก็ทำเท่าที่สภาพร่างกายจะไหว ไม่คิดว่ามีภาระติดพันที่ยังคงค้างคาใจอยู่ ดีกว่าการได้รับความทรมานจากการพยายามยื้อชีวิตจากการรักษาทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มีโอกาสหาย จากที่ต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลแล้วได้รับการยื้อชีวิตที่ต้องได้รับความเจ็บปวดและทรมานเปลี่ยนมาเป็นกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านหรือสถานที่ๆ ผู้ป่วยต้องการแล้วใช้ชีวิตที่เหลือในรูปแบบที่ตนเองคิดไว้แต่ทั้งนี้ก็ยังอยู่ในความดูแลและให้คำแนะนำปรึกษาจากแพทย์น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ผู้สุงอายุส่วนมากมักมีความคิดว่าถ้าจะตายทั้งทีของให้กลับมาตายที่บ้าน นั่นสะท้อนให้เห็นว่า บ้านมีความสำคัญและก่อให้เกิดความสุขแก่ผู้สูงอายุมากเพียงใดเมื่อได้กลับมาบ้าน ถึงแม้ผู้สูงอายุจะเจ็บป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หายและเวลาก็เหลือน้อยลงทุกขณะ แต่การได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านตามความต้องการและได้ทำสิ่งที่ยังคงค้างคาใจอยู่ให้เสร็จย่อมทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขมากว่าการนอนรอวาระสุดท้ายของชีวิตที่โรงพยาบาล แม้ว่าร่างกายที่เจ็บป่วยจะทำให้ไม่สามารถทำกิจวิตรได้ตามปกติแต่การกลับมาอยู่ที่บ้านทำให้ผู้สูงอายุมีอิสระและสบายใจมากกว่าอยู่โรงพยาบาลอย่างแน่นอน
การดูแลแบบประคับประคอง(Palliative Care) ต้องได้รับความเข้าใจและการยอมรับจากตัวผู้สูงอายุและครอบครัวว่าผลดีที่เกิดขึ้นคือผู้สูงอายุที่ป่วยในระยะท้ายของโรคจะไม่ต้องเจ็บปวดและทรมานจากการรักษาในลักษณะยื้อชีวิตคือไม่ยื้อแต่ช่วยลด–บรรเทาความเจ็บปวดเท่าที่จะทำได้และปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามธรรมชาติเมื่อถึงเวลานั้น การที่ผู้สูงอายุที่อยู่ในระยะท้ายของโรคได้ร่วมวางแผนกำหนดการใช้ชีวิตในช่วงที่เหลือด้วยตนเองเป็นการได้ทำตามความต้องการและเข้าสู่วาระสุดท้ายอย่างไม่มีอะไรติดค้าง