โรคที่พบในผู้สูงอายุ ส่วนมากจะเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของร่างกายอันเนื่องจากระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานได้น้อยลงและมีประสิทธิภาพที่ไม่ดีเหมือนตอนเป็นหนุ่มสาวและอีกส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตเมื่อตอนยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวมีการเจ็บป่วยแบบสะสมแล้วขาดการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุร่างกายอ่อนแอลงทำให้อาการของโรคปรากฏขึ้นมาอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ(ส่วนมากจะเป็นโรคเรื้อรัง)นั้นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่เรื่องการกินอาหาร(กินแต่อาหารที่ทำลายสุขภาพ) ขาดการพักผ่อน(ทุ่มเวลาให้กับการทำงาน) ขาดการออกกำลังกาย(ไม่มีเวลา) มีความเครียดสูง(มุ่งทำงานสร้างฐานะ) สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์(สังสรรค์) พฤติกรรมเหล่านี้ถูกปฏิบัติจนติดเป็นนิสัยและทำร้ายร่างกายมาเป็นระยะเวลานานซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคข้อเสื่อม โรคกระดูกพรุน โรคระบบทางเดินอาหาร(ท้องอืด ท้องผูก) โรคอ้วน โรคตา โรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ วิตกกังวล ฯลฯ ร่างกายของคนเราจะมีการเจริญเติบโตและสมบูรณ์เต็มที่เมื่ออายุประมาณ 20-25 ปี หลังจากนั้นประสิทธิภาพของระบบต่างๆ และอวัยวะในร่างกายก็จะค่อยๆ ถดถอยลง จนเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะพบว่าร่างกายมีปัญหาทั้งสุขภาพกายและจิตใจ ทั้งนี้โรคในผู้สูงอายุส่วนมากจะเป็นปัญหาทางร่างกายแต่ก็มีหลายโรคเช่นกันที่เป็นปัญหาทั้งทางร่างกายและจิตใจร่วมกัน ดังนั้นผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลปัญหาทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กัน
สาเหตุของโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุคือการที่อวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกายเริ่มเสื่อมถอยและทำหน้าที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อีกสาเหตุหนึ่งคือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายที่เกี่ยวกับโรคผู้สูงอายุนั้นสิ่งที่ทำได้คือการพยายามดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคและชะลออาการของโรคให้เกิดผลกระทบกับร่างกายน้อยที่สุดหรือช้าที่สุดเนื่องจากโรคผู้สูงอายุส่วนมากจะเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคข้อเสื่อม โรคกระดูกพรุน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงเป็นต้น อีกสาเหตุหนึ่งคือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต(ที่ไม่ถูกต้อง) ที่เป็นนิสัยติดตัวมาซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างสูงในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่ออาการของโรค
โรคอ้วน สาเหตุหนึ่งมาจากพันธุกรรมคือถ้าพ่อแม่อ้วนลูกก็มีโอกาสสูงที่จะอ้วนตามพ่อแม่ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ แต่สาเหตุของโรคอ้วนที่เราสามารถควบคุมได้คือพฤติกรรมการกินอาหารและการออกกำลังกาย คนที่เป็นน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนนั้นส่วนมากจะกินอาหารมากเกินไปและพลังงานส่วนเกินก็ถูกเก็บสะสมเป็นไขมันทำให้อ้วน ผู้สูงอายุส่วนมากเมื่อไม่ได้ทำงานแล้วการทำกิจกรรมต่างๆจะลดลงการใช้พลังงานในร่างกายก็น้อยลง ดังนั้นควรปรับการกินอาหารให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันและหาเวลาออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ ผู้สูงอายุที่เป็นโรคอ้วนจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้เช่น ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคข้อเสื่อม ฯลฯ
โรคความดันโลหิตสูง(Hypertension) ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนมากจะมีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสมคือกินอาหารที่มีไขมันมาก ติดการกินอาหารรสเค็ม มีความเครียด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ฯลฯ อาการของโรคความดันโลหิตสูงหากปล่อยไว้ไม่ดูแลควบคุมจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะสำคัญเช่น สมอง หัวใจ หลอดเลือด ไต และตา ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกบริเวณกลางอกหรือทางซ้ายของหัวใจ อาจร้าวไปถึง กราม คอ ข้อศอก แขน หากมีอาการเจ็บหน้าอกนานเกิน 30 นาทีอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้
โรคหรือภาวะสมองเสื่อม(Dementia) ผู้สูงอายุจะมีอาการหลงลืม จำอะไรไม่ได้ เป็นภาวะที่ความสามารถทางสติปัญญาลดลง การใช้ภาษาผิดปกติคือนึกคำพูดไม่ค่อยออกหรือใช้คำผิด ผู้ป่วยจะสับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่ ทำสิ่งที่เคยทำเป็นประจำไม่ได้ ชอบถามคำถามเดิมๆ พูดเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา อาการเหล่านี้จะค่อยๆเป็นมากขึ้นจนมีผลกระทบกับการทำงานและกิจวัตรประจำวัน
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาหายได้ แต่อาจสามารถเลือกวิธีรักษาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ วิธีรักษาที่ใช้บ่อยๆ คือ การให้ยารักษาอาการ การให้คำปรึกษาและการดูแลสุขภาพและความสัมพันธ์ และการให้ความช่วยเหลือในการดำเนินชีวิตประจำวัน
ความจำเสื่อมเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในระบบประสาทและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมอง ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น อายุ, ภาวะสุขภาพที่ไม่ดีเป็นต้น ความจำเสื่อมสามารถรักษาหายได้ หรือปรับปรุงได้ หากเป็นเพราะสาเหตุจากภาวะสุขภาพที่สามารถแก้ไขได้ เช่น ภาวะอ้วน โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ หรือโรคติดต่อ นอกจากนี้อาจใช้การเรียนรู้และฝึกฝนความจำเพิ่มเติม โดยใช้การเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาความจำเสื่อม หรือการออกกำลังกาย และการทำกิจกรรมที่สนุกสนาน เช่น การฝึกฝนความจำ การเล่นเกมส์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยในการปรับปรุงความจำให้ดีขึ้น การปรับปรุงแก้ไขความจำเสื่อมนั้น อาจใช้วิธีการต่างๆ เช่น การใช้โปรแกรมฝึกฝนความจำออนไลน์ การใช้การอ่าน หรือการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ การใช้การฝึกฝนความสมบูรณ์ของสมอง เช่น การใช้การเรียนรู้แบบประยุกต์หรือการใช้การฝึกฝนความสมบูรณ์ด้วยการเล่นเกมส์ เป็นต้น โดยการรักษาความจำเสื่อม จะต้องใช้ความรู้จากการวิจัยและความรู้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ผลการรักษาและปรับปรุงความจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความรุนแรงของอาการหลงลืมในผู้สูงอายุขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการหลงลืมและระดับของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมอง ถ้าเป็นเพราะโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมอง อาจมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น โรคอัมพาตอาจทำให้ความสามารถในการจดจำและคิดจะลดลงอย่างรุนแรงแต่ถ้าเป็นเพราะสาเหตุอื่นๆ อาจมีความรุนแรงน้อยกว่า เช่น การใช้ยาบางชนิด หรือภาวะสุขภาพร่างกายที่ไม่ดี ซึ่งอาจสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับปรุงพฤติกรรม
โรคกระดูกพรุน(Osteoporosis) คือโรคที่มวลกระดูกลดลงทำให้กระดูกอ่อนแอและเกิดการแตกหักได้ง่ายขึ้น ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นคือการขาดแคลเซียม การใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อมวลกระดูก ผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุนต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการหกล้มและกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงเช่น ปลาตัวเล็กๆที่กินได้ทั้งตัว นมพร่องมันเนย เป็นต้น
โรคข้อเข่าเสื่อม(OA knee) เป็นโรคที่เกิดได้บ่อยกับผู้สูงอายุอีกโรคหนึ่งจะมีอาการปวดเข่าเมื่อใช้งานหรือเคลี่อนไหวข้อเข่าซึ่งเกิดจากความเสื่อมของกระดูกข้อเข่าเพราะข้อเข่าทำหน้าที่รับน้ำหนักทั้งหมดของร่างกาย การใช้งานข้อเข่ามากๆ เช่น เดินขึ้น-ลงบันไดมากๆ ยืนมาก เดินมาก นั่งยองมากๆ จะทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้นและอาจมีเสียงดังกร๊อบแกร๊บในข้อเข่า
โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น โรคต้อกระจกมีอาการแก้วตามีสีขาวขุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แสงผ่านได้น้อยลงจึงมีอาการตามัวมองเห็นไม่ชัดเจน โรคต้อหินคือภาวะที่ความดันในลูกตาสูงกว่าปกติเป็นโรคที่ร้ายแรงทำให้ตาบอดได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว โรคสายตายาวเกิดจากเลนส์ตาที่แข็งขึ้นจนไม่สามารถปรับการมองเห็นได้ชัดเจน เมื่ออ่านหนังสือผู้ป่วยจะต้องเหยียดแขนถือหนังสือให้ไกลขึ้นจึงจะอ่านได้ชัดเจน
ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เกิดจากการที่ผู้สูงอายุไม่สามารถปรับตัวปรับใจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย(อาการเจ็บป่วยและสังขารที่ร่วงโรย) จิตใจ สังคมและสภาพแวดล้อมรอบๆตัวผู้สูงอายุ เมื่อเกิดภาวะซึมเศร้าจะทำให้ผู้สูงอายุไม่มีความสุข หดหู่ ท้อแท้ รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า สิ้นหวัง ลูกหลานและคนในครอบครัวควรให้ความใส่ใจต่อผู้สูงอายุทำให้ผู้สูงอายุเกิดความตระหนักในคุณค่าของตนเองที่มีต่อคนในครอบครัว
วิธีป้องกันและรักษาโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ วิธีดูแลสุขภาพผู้สูงอายุทำได้โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุให้ส่งผลในทางที่ดีกับอาการของโรค เริ่มตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน เนื่องจากผู้สูงอายุมีกิจกรรมที่ต้องทำประจำวันไม่มากดังนั้นความต้องการพลังงานจากอาหารจึงน้อยลง ผู้สูงอายุควรลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาลและไขมัน ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่มีรสจัดไม่ว่าจะเป็น หวานจัด เค็มจัด เผ็ดจัด มันจัด ให้เน้นโปรตีนที่ได้จากปลาและธัญพืช กินผักและผลไม้(รสไม่หวานจัด)ให้มาก วิธีการปรุงอาหารให้เน้นวิธีต้ม นึ่ง ย่าง อบ แทนการทอดและผัดโดยใช้น้ำมัน และอย่าลืมดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละ 6-8 แก้ว
การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีโรคประจำตัวที่ร้ายแรงควรออกกำลังกายแบบแอโรบิคเช่น การเดินเร็ว ให้ได้วันละ 30 นาทีอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลดีกับหัวใจและหลอดเลือดเป็นอย่างมาก สำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์เรื่องการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับโรคประจำตัวของผู้ป่วย การดูแลสุขภาพอนามัยผู้สูงอายุควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมโดยใช้ค่าดัชนีมวลกาย(Body Mass Index-BMI) เป็นตัววัด(ให้อยู่ในช่วง 18.5 – 24.9 กก./ม.²)เพื่อลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดกับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุควรได้สัมผัสอากาศบริสุทธิ์และลด ละ เลิก สิ่งที่ส่งผลเสียกับสุขภาพเช่น เหล้า บุหรี่ ฯลฯ
หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้ แน่นหน้าอก ปัญหาการขับถ่าย ฯลฯ เพราะร่างกายของผู้สูงอายุไม่แข็งแรงเหมือนเมื่อก่อน ภูมิต้านทานโรคลดลง การที่ร่างกายอ่อนแอได้รับเชื้อโรคแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพขึ้นมาได้ ผู้สูงอายุไม่ควรใช้ยานอกเหนือจากที่แพทย์สั่งเพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอันตรายกับผู้สูงอายุได้ สถานที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุควรปรับปรุงให้มีความปลอดภัยและลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุกับผู้สูงอายุ
วิธีดูแลสุขภาพด้านจิตใจของผู้สูงอายุ โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่เกี่ยวกับด้านจิตใจเช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล กลัวถูกทอดทิ้ง คนในครอบครัวควรหาเวลาพูดคุยกับผู้สูงอายอย่างสม่ำเสมอ พาผู้สูงอายุไปวัด ทำบุญ ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เพื่อให้จิตใจสงบ หาเวลาทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุบ้างจะทำให้ผู้สูงอายุไม่เหงาและไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง
ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของผู้สูงอายุคือ เรื่องอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ที่พบได้บ่อยคือ การหกล้มซึ่งมีสาเหตุมาจากความเสื่อมของร่างกายและการทรงตัวที่ผิดปกติ ระบบประสาทอัตโนมัติและระบบประสาทส่วนปลายเสื่อม ภาวะทุพโภชนาการและโรคของสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว อีกทั้งหากผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็วทำให้ความดันโลหิตตกอาจเกิดอาการหน้ามืดและหกล้มได้ การล้มทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพกับผู้สูงอายุและอาจต่อเนื่องด้วยการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจมีอันตรายถึงตายได้ ทั้งนี้อาจหาทางป้องกัน “การหกล้มในผู้สูงอายุ” ได้ด้วยการจัดสถานที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เกิดความสะดวกสบายกับผู้สูงอายุ หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวที่อาจทำให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ลำบากก็ควรมีการใช้อุปกรณ์ช่วยการเคลื่อนที่ที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้สูงอายุมีอาการของโรคที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อยิ่งต้องดูแลด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ
สรุป…โรคของผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง ด้วยสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปจะมีโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุเกิดขึ้นหลายชนิด เนื่องจากร่างกายมีการเสื่อมสภาพไปตามวัย โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุได้แก่ โรคกระดูกและข้อ(ข้อเสื่อม กระดูกพรุน กระดูกเปราะและแตกหักง่าย) เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ(โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด) โรคที่เกี่ยวกับสมองและระบบประสาท(อัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อม) โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ(ต่อมลูกหมากโต ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่) ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับการได้ยินและมองเห็น(ต้อกระจก ต้อหิน หูตึง) โรคทางเดินอาหาร(ลำไส้อักเสบ กรดไหลย้อน) เป็นต้น