เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นมาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ(Aging Society) แล้ว ประชากรไทยมีแนวโน้มที่จะมีอายุมากขึ้น อัตราการเกิดและอัตราการตายลดลงอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยทำงานลดลง เนื่องจากนโยบายการวางแผนครอบครัวที่ประสบความสำเร็จอีกทั้งความก้าวหน้าในด้านการแพทย์และเทคโนโลยีส่งผลให้คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้นและรู้จักดูแลสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นประชากรที่อยู่ในวัยสูงอายุจึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น
“ผู้สูงอายุ” หมายถึงผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป สุขภาพร่างกายและจิตใจก็เริ่มเสื่อมถอยไปตามธรรมชาติ ผู้สูงอายุส่วนน้อยที่ยังช่วยเหลือดูแลตนเองได้ในขณะที่ผู้สูงอายุส่วนมากจะต้องอาศัยการดูแลจากผู้ดูแลผู้สูงอายุซึ่งส่วนมากมักเป็นคนในครอบครัวดังนั้นเราควรเตรียมตัวให้พร้อมกับการดูแลผู้สูงอายุ
ภาระหน้าที่ในการดูแลผู้สุงอายุไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครๆ ก็สามารถทำให้ดีได้ การดูแลผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดีต้องมีความรู้(ในการปฏิบัติดูแลผู้สูงอายุในเรื่องต่างๆ) และความเข้าใจในธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุซึ่งจะทำให้เกิดความเห็นใจและเอื้ออาทรในการดูแลผู้สูงอายุ
ผู้ดูแลผู้สูงอายุ(Caregiver) ควรมีความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ โดยมีการตระหนักในหน้าที่การดูแลผู้สูงอายุว่ามีความสำคัญและต้องทำด้วยความเข้าใจอีกทั้งต้องมีความรู้ในการปฏิบัติดูแลผู้สุงอายุในเรื่องต่างๆ ผู้สูงอายุอาจแบ่งโดยใช้สุขภาพเป็นเกณฑ์ออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ 1. กลุ่มผู้สูงอายุติดสังคม(ช่วยเหลือตนเองได้) 2. กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน(พอจะช่วยเหลือตนเองได้บ้าง) และ 3. กลุ่มผู้สูงอายุติดเตียง(ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย) ซึ่งการดูแลผู้สุงอายุแต่ละกลุ่มก็ต้องอาศัยความรู้หรือทักษะในการดูแลที่แตกต่างกันไป
ไม่ว่าจะเป็นการดูแลผู้สูงอายุในด้านสุขภาพกายเช่น เรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การดูแลเรื่องสุขอนามัย(ความสะอาดและการขับถ่าย) การนอน ฯลฯ หรือการดูแลผู้สูงอายุในด้านจิตใจ ผู้ดูแลผู้สูงอายุซึ่งส่วนมากจะเป็นคนในครอบครัวจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติของผู้สูงอายุเพื่อที่จะทำหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพกาย-ใจและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้