การดูแลผู้สูงอายุ มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้สูงอายุทั้งปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพผู้สูงอายุ ปัจจัยที่มีผลต่อความเครียดของผู้สูงอายุและปัจจัยที่มีผลต่อภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุ ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุควรทราบถึงปัจจัยที่มีผลต่อการดูแลผู้สูงอายุเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าแต่ละปัจจัยมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรและจะต้องทำงานไปพร้อมกันอย่างสอดคล้องและมีความเข้าใจกันเพื่อให้บรรลุผลคือการดูแลผู้สูงอายุให้มีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
1. ตัวผู้สูงอายุ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุตระหนักและเห็นคุณค่าในตัวเองจะได้เกิดความภาคภูมิใจและมีกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีคุณค่าสุขภาพก็จะแข็งแรง ผู้สูงอายุส่วนมากจะมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าเป็นภาระให้กับครอบครัวทำให้เกิดความวิตกกังวล กลัวลูกหลานไม่สนใจ น้อยใจเมื่อไม่มีใครรับฟังความคิดเห็น ฯลฯ ตัวผู้สูงอายุควรเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ยอมรับฟังความคิดเห็นของลูกหลานไม่เอาแต่ใจหรือคิดว่าตัวเองต้องถูกเท่านั้น ผู้สูงอายุต้องปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นยอมรับความช่วยเหลือจากคนในครอบครัว ไม่หงุดหงิดหรือเกรี้ยวกราดใส่คนในครอบครัวโดยไม่มีเหตุผล
2. ครอบครัว ปัจจัยภายในครอบครัวเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ โดยผู้ดูแลหลักจะดูแลในเรื่องสุขภาพความเป็นอยู่โดยรวมเช่น เรื่องอาหาร การกินยา ที่อยู่ เครื่องนุ่งห่ม การพักผ่อน สุขอนามัย ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวก็คอยให้การสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่าย เสื้อผ้า ของใช้ที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ ที่สำคัญสมาชิกในครอบครัวก็ต้องมีการปรับตัวบ้างในเรื่องของการทำงานและกิจวัตรประจำวันของสมาชิกในครอบครัวเพื่อให้สอดคล้องกับการดูแลผู้สูงอาย สมาชิกในครอบครัวต้องพยายามเข้าใจผู้สูงอายุว่าการเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้ให้การช่วยเหลือ” มาเป็น “ผู้รับการช่วยเหลือ” นั้นต้องใช้เวลาปรับตัว ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุด้วยความรักความเข้าใจจะทำให้ทั้งตัวผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัวสามารถปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้
3. ผู้ดูแลผู้สูงอายุ(Caregiver) สำหรับสังคมไทยผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุส่วนมากจะเป็นลูกหลาน เครือญาติหรือคนในครอบครัว บทบาทของครอบครัวและผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) คือต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุรวมทั้งการหมั่นหาความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มเติมอยู่เสมอ สร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุกับสมาชิกทุกคนในครอบครัวให้สมาชิกในครอบครัวตระหนักว่าหน้าที่การดูแลผู้สูงอายุเป็นหน้าที่ของทุกคนไม่ใช่เป็นหน้าที่ของผู้ดูแลหลักเท่านั้น
4. ชุมชนและสภาพแวดล้อมที่ดี ในชุมชนที่มีระบบการจัดการที่ดีทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีระบบสนับสนุนที่ดีมีการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มีการทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับคนในชุมชนรวมทั้งผู้สูงอายุด้วยทำให้คนในชุมชนและผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ทั้งบริการด้านสุขภาพ บริการด้านสังคมได้อย่างทั่วถึง การเอาใจใส่ให้บริการผู้สูงอายุโดยบุคลากรที่นอกจากจะมีความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุแล้วคุณสมบัติที่สำคัญที่ถือว่าจำเป็นต้องมีในการดูแลผู้สูงอายุให้ได้ดีคือความเอื้ออาทรและเจตคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ อีกทั้งชุมชนต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงอายุมีความปลอดภัยและเข้าถึงได้ทั้งสิ่งแวดล้อมในหน่วยบริการและชุมชน
การสร้างความเข้าใจและการยอมรับความจริงทั้งตัวผู้สูงอายุ ครอบครัว ผู้ดูแลผู้สูงอายุรวมถึงชุมชนจะทำให้เกิดความเอื้ออาทรและมีเจตคติที่ดีในการดูแลผู้สูงอายุซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุให้ได้ดี
การดูแลผู้สูงอายุโดยใช้หลัก 5 อ. มีดังนี้คือ 1. อาหาร ควรทานให้ครบ 5 หมู่ แต่เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนมากมักมีโรคประจำตัวจึงจำเป็นต้องควบคุมอาหารให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะกับความต้องการของร่างกายและไม่ส่งผลกระทบกับโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ 2. ออกกำลังกาย ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายเพื่อรักษาสภาพร่างกายให้แข็งแรงคงเดิมหรือให้ร่างกายเกิดการเสื่อมถอยน้อยที่สุดแต่ทั้งนี้ก็ต้องระมัดระวังเรื่องที่สำคัญคือ “การหกล้มในผู้สูงอายุ” ด้วยจึงควรออกกำลังในระดับที่พอดีเท่านั้น 3. อนามัย นอกจากต้องดูแลเรื่องอาหารการกินแล้ว ผู้สูงอายุควรอยู่ในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี แสงสว่างเพียงพอ อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่อุดอู้ ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เสียสุขภาพเช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บุหรี่ เป็นต้น 4. อารมณ์ ผู้สูงอายุต้องยอมรับความจริงให้ได้ว่า การ่เปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ทุกคนย่อมหนีไม่พ้น ดังนั้นต้องทำใจยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าสู่วัยชรา พยายามคิดบวก ปล่อยวางให้ได้มากที่สุดทำอารมณ์ให้แจ่มใสไม่เครียด 5. งานอดิเรก ผู้สูงอายุควรมีงานอดิเรกทำเพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์กับทั้งตนเองและคนรอบข้าง อาจใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ในการแนะนำช่วยเหลือแก่คนที่อยู่รอบตัวซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุรู้ว่าตัวเองยังมีคุณค่าและสามารถทำประโยชน์ช่วยเหลือแก่ลูกหลานและคนที่อยู่รอบตัวได้.
สิ่งที่ควรปฏิบัติในการดูแลผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง การดูแลผู้สูงอายุเป็นภารกิจที่ต้องการความเอาใจใส่และความระมัดระวังในหลายด้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสุขภาพที่แข็งแรง สิ่งที่ควรปฏิบัติในการดูแลผู้สูงอายุต้องทำในหลายๆ ด้านดังนี้ การดูแลสุขภาพทั่วไปทั้งในเรื่องโภชนาการ จัดการยาให้ถูกต้อง ส่งเสริมการออกกำลังกายของผู้สูงอายุและการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุเป็นประจำ การดูแลสุขภาพทางใจของผู้สูงอายุเช่น การสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นให้ผู้สุงอายุคลายเหงา สนันสนุนให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมที่ขอบเพื่อกระตุ้นสมองและสร้างความเพลิดเพลินซึ่งอาจเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้อื่นเพื่อการมีสังคมที่ดี ในด้านความปลอดภัยของผู้สูงอายุควรจัดการเรื่องสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัยให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุเช่น ติดตั้งพื้นกันลื่น ราวจับในห้องน้ำและบริเวณบันได จัดบ้านให้โปร่งมีแสงสว่างเพียงพอและไม่มีสิ่งกีดขวางทางเดินในบ้านหรือห้องของผู้สูงอายุ การดูแลกิจวัตรประจำวันอาจช่วยทำกิจวัตรประจำวันเช่น อาบน้ำ กินข้าว แต่งตัว พยายามสนันสนุนให้ผู้สูงอายุทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง สำหรับเรื่องยาของผู้สูงอายุผู้ดูแลความจัดยาที่ต้องรับประทานให้ถูกต้องตรงเวลาและปริมาณที่กำหนดหากมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาให้รีบปรึกษาแพทย์ หากมีกรณีฉุกเฉินต้องมีการดำเนินการอย่างเหมาะสมในเรื่องการปฐมพยาบาลและมีการเตรียมแผนฉุกเฉินในกรณีที่เกิดเหตุการที่ไม่คาดคิดขึ้นกับผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุอย่างครบถ้วนในทุกด้านเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดี มีสุขภาพที่แข็งแรง และมีความสุขในชีวิตประจำวัน