วัยชรา ความสุขอยู่ที่(การทำ)ใจ…จริงๆ

การทำใจหรือการยอมรับความจริงของผู้สูงอายุในเรื่องของสังขารว่าเมื่อเข้าสู่วัยชราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่เสื่อมลงแย่ลงเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่ง ถ้าผู้สูงอายุทำใจยอมรับได้นั่นคือการเริ่มต้นที่ดีซึ่งเชื่อได้ว่าชีวิตในบั้นปลายจะมีความสุขไปกว่า 80 % แล้ว ส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่ต้องพูดถึง สำหรับการมีชีวิตที่ก่ำลังเข้าสูงวัยชรา ความสุขทางกาย(สุขภาพดี) ที่ว่าสำคัญแล้วยังมีสิ่งสำคัญสำหรับการเตรียมตัวเข้าสู่วัยชราอย่างมีคุณภาพนั่นคือ การทำใจหรือการยอมรับถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปจนกว่่าจะถึงวันสุดท้ายของชีวิตซึ่งต้องทำใจยอมรับให้ได้ว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

แก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีคุณภาพ เอาจริงๆ จะมีสักกี่คนที่ทำได้ ไม่เอาแบบโลกสวย แค่การทำใจให้ยอมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ก็ยากแล้ว จะให้ปั้นหน้ายิ้มระรื่นเพื่อให้คนอื่นมองว่าบั้นปลายชีวิตที่เหลือมีความสุขกับวัยชราซะเหลือเกินเข้าทำนอง หน้าชื่นอกตรมหรือประกาศไปตรงๆ ให้โลกรู้ไปเลยว่า คราวนี้ทำใจลำบากเ่หลือเกิน ก็มีทั้งข้อดีข้อเสียของทั้งสองแบบ ถามจริงจะมีคนสักกี่คนที่ตระหนักและเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่วัยชราไว้

เข้าสู่วัยชราอย่างมีความสุข
ความสุขอยู๋ที่ใจของวัยชรา

ตั้งแต่ตอนอายุยังน้อยเมื่อเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ มีมั้ยใครคนนั้น ยกมือขึ้นซิ. ไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายแต่มองโลกตามความเป็นจริง ชีวิตของคนเมื่อเริ่มต้นทำงานจะใฝ่ฝันถึงเป้าหมายในชีวิต ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้…. แต่จะมีใครจะคิดถึงความพร้อมในบั้นปลายชีวิตที่หากจะให้พร้อมจริงๆ ก็ต้องเตรียมตัวตั้งแต่วัยทำงานเลย นี่แค่ความคิดนะยังไม่รวมถึงว่าเส้นทางที่กำหนดไว้ในระหว่างทางที่เตรียมความพร้อมจะทำตามแผนได้มากน้อยสักแค่ไหน เป้าหมายสู่ความพร้อมในวัยชราอาจทำให้รู้สึกท้อเสียจนเลิกทำไปเลยก็ได้

การทำใจเมื่อต้องเข้าสู่วัยชรา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้จริง ก็ยากอยู่นะการเรียนรู้ที่จะยอมรับความแก่หรือการเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ อยู่กับความชราอย่างเข้าใจ ปล่อยวางไม่ยึดติดกับสิ่งต่างๆ ในอดีตเพราะความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ การมองชีวิตตามความเป็นจริง ไม่ต้องใช้ชีวิตให้มีความสุขแค่ไม่ทุกข์ก็พอแล้ว ยินดีกับสิ่งที่มีและสิ่งที่ได้รับ สุดท้ายต้องรู้จักปล่อยวางปล่อยให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปตามธรรมชาติของมัน ใช้ชีวิตที่เหลือในช่วงบั้นปลายชีวิตอย่างสงบ ไม่จำเป็นต้องคิดไกลถึงขั้นช่วยเหลือสังคมและผู้ที่ลำบากกว่าขอแค่ทำตัวไม่ให้เป็นภาระของคนรอบข้างก็น่าจะเพียงพอแล้ว.

การทำใจเรื่องต้นทุนชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยชรา คนที่ดูแลสุขภาพตัวเองดีเมื่อเข้าสู่วัยชราแม้ร่างกายจะเสื่อมถอยไปตามอายุที่เพิ่มขึ้นแต่ก็ยังสามารถทำกิจวัตรและใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเองโดยไม่เป็นภาระของคนรอบข้างนั่นคือคุณมีต้นทุนที่ดีซึ่งน้อยคนที่จะทำได้แบบนี้ ยิ่งถ้าสุขภาพดีและมีเงินเก็บพอใช้โดยไม่ขัดสนไม่เป็นภาระลูกหลานนั่นคือสุดยอดผู้สูงวัยอย่างแท้จริง หากจะเปรียบเทียบระหว่างการมีสุขภาพดีกับการมีเงินเก็บเยอะว่าถ้าเลือกได้จะเลือกแบบไหนดี ตอบแบบไม่ต้องคิดเลยว่า สุขภาพดีต้องมาก่อนเพราะถึงแม้คุณจะมีเงินเก็บมากมายเพียงใดแต่ถ้าในวัยชราคุณมีโรคประจำตัวหรือเจ็บป่วยเงินที่มีอยู่ก็จะถูกใช้ไปกับการรักษาตัวซึ่งอาจจะพอหรือไม่พอก็ได้

การทำใจเมื่อต้องเข้าสู่วัยชราจะยิ่งยากขึ้น หากคุณเป็นคนแก่ที่เป็นภาระของลูกหลาน ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องเข้าใจว่าลูกๆ หลานๆ ก็มีภาระความรับผิดขอบทั้งหน้าที่การงานและครอบครัวจะให้มาทุ่มเทดูแลคนแก่อย่างเดียวไม่ได้ หากผู้สูงอายุอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ต้องเป็นภาระของคนรอบข้างก็ยิ่งต้องทำใจยอมรับให้ได้ว่าได้แค่นี้ก็พอแล้ว อยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว อ่อนน้อม ทำตัวให้น่ารักไม่ฉุนเฉียวหรือน้อยใจเมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการหรือมีใครมาขัดใจ การรู้จักประมาณตนอยู่กับความชราอย่างเข้าใจ รู้จักปล่อยวางจะทำให้ใช้ชีวิตที่เหลือในบั้นปลายชีวิตได้อย่างสงบแม้จะไม่มีความสุขแต่ขอแค่ไม่ทุกข์ก็พอแล้ว.

แก่อย่างไรให้ลูกหลานรัก การเป็นผู้สูงอายุที่ได้รับความเคารพรักจากลูกหลานนั้นไม่ใช่เรื่องยาก หากเราสามารถปรับตัวและปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม การสร้างความสัมพันธ์กับลูก ๆ หลานๆ ให้เป็นไปในทางที่ดี มีความเคารพรักอย่างยั่งยืนเกิดจากการปรับตัวให้เข้ากันได้ เน้นว่าผู้สูงอายุต้องปรับตัวเพราะเมื่อแก่ตัวลงมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้นหากผู้สูงอายุต้องการให้ลูกหลานรักและเคารพก็อาจทำได้ดังนี้ ผู้สูงอายุต้องเปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงก็ต้องปรับตัวจะทำพฤติกรรมแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว ผู้สูงอายุควรแสดงความห่วงใยลูกหลานและพร้อมให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำเมื่อพวกเขาต้องการ ควรใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกหลานบ้างเพื่อสร้างความผูกพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ประสบการณ์ที่ผ่านมาของผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่มีค่าในการนำมาแชร์เป็นประสบการณ์ในลักษณะเล่าสู่กันฟังแต่อย่าบังคับให้ลูกหลานต้องทำตามและไม่เข้าไปก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของพวกเขา คอยสนับสนุนให้กำลังใจและเป็นแบบอย่างที่ดี ในยุคนี้ผู้สูงอายุต้องปรับตัวให้รู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น โซเชียลมีเดีย จะทำให้สามารถติดต่อและเข้าถึงลูกๆ หลานๆ ได้ง่ายขึ้น ผู้สูงอายุควรปรับตัวให้น่าคบหา ไม่หงุดหงิดง่าย อารมณ์ดีจะทำให้ลูกหลานอยากเข้าใกล้พูดคุยด้วย พยายามดูแลรักษาสุขภาพตามสมควรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน การปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเป็นที่รักและเคารพของลูกหลานได้อย่างยั่งยืน